วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ลักษณะของการเรียนรู้แบบร่วมมือ

ลักษณะของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
อาภรณ์  ใจเที่ยง  (2550 : 121) ได้กล่าวถึง การจัดกิจกรรมแบบร่วมแรงร่วมใจว่ามีลักษณะ ดังนี้
1.  มีการทำงานกลุ่มร่วมกัน  มีปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม
2.  สมาชิกในกลุ่มมีจำนวนไม่ควรเกิน  คน
3.  สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันเพื่อช่วยเหลือกัน
4.  สมาชิกในกลุ่มต่างมีบทบาทรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  เช่น
-   เป็นผู้นำกลุ่ม  (Leader)
-   เป็นผู้อธิบาย  (Explainer)
-   เป็นผู้จดบันทึก  (Recorder)
 เป็นผู้ตรวจสอบ  (Checker)
-   เป็นผู้สังเกตการณ์  (Observer)      
-   เป็นผู้ให้กำลังใจ (Encourager) ฯลฯ                       
สมาชิกในกลุ่มมีความรับผิดชอบร่วมกัน  ยึดหลักว่า  ความสำเร็จของแต่ละคน คือ ความสำเร็จของกลุ่ม ความสำเร็จของกลุ่ม คือ ความสำเร็จของทุกคน” 

องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
            นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการเรียนรู้แบบร่วมมือ ไว้ดังนี้
จอห์นสัน และจอห์นสัน (Johnson and Johnson, 1987 : 13 - 14) อ้างใน  ไสว-ฟักขาว (2544 : 193-194) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ ไว้ดังนี้
1.  ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในทางบวก  (Positive Interdependence) หมายถึง
การที่สมาชิกในกลุ่มทำงานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน  มีการทำงานร่วมกัน โดยที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานนั้น  มีการแบ่งปันวัสดุ  อุปกรณ์  ข้อมูลต่าง ๆ  ในการทำงาน  ทุกคนมีบทบาท  หน้าที่และประสบความสำเร็จร่วมกัน  สมาชิกในกลุ่มจะมีความรู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จได้ก็๖อเมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จด้วย สมาชิกทุกคนจะได้รับผลประโยชน์  หรือรางวัลผลงานกลุ่มโดยเท่าเทียมกัน  เช่น  ถ้าสมาชิกทุกคนช่วยกัน  ทำให้กลุ่มได้คะแนน  90%  แล้ว  สมาชิกแต่ละคนจะได้คะแนนพิเศษเพิ่มอีก  5  คะแนน  เป็นรางวัล  เป็นต้น
2.  การมีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน  (Face  To  Face  Pronotive
Interaction)  เป็นการติดต่อสัมพันธ์กัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การอธิบายความรู้ให้แก่เพื่อนในกลุ่มฟัง เป็นลักษณะสำคัญของการติดต่อปฏิสัมพันธ์โดยตรงของการเรียนแบบร่วมมือ ดังนั้น จึงควรมีการแลกเปลี่ยน ให้ข้อมูลย้อนกลับ เปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ เพื่อเลือกในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
3.  ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน  (Individual  Accountability)  ความ
รับผิดชอบของสมาชิกแต่ละบุคคล  เป็นความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละบุคคล  โดยมีการช่วยเหลือส่งเสริมซึ่งกันและกัน  เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายกลุ่ม  โดยที่สมาชิก
ทุกคนในกลุ่มมีความมั่นใจ  และพร้อมที่จะได้รับการทดสอบเป็นรายบุคคล
4.  การใช้ทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interdependence
 and  Small  Group  Skills)  ทักษะระหว่างบุคคล  และทักษะการทำงานกลุ่มย่อย  นักเรียนควรได้รับการฝึกฝนทักษะเหล่านี้เสียก่อน  เพราะเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ  นักเรียนควรได้รับการฝึกทักษะในการสื่อสาร  การเป็นผู้นำ  การไว้วางใจผู้อื่น  การตัดสินใจ  การแก้ปัญหา  ครูควรจัดสถานการณ์ที่จะส่งเสริมให้นักเรียน  เพื่อให้นักเรียนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  และในปี ค.. 1991 จอห์นสัน และ จอห์นสัน  ได้เพิ่มองค์ประกอบการเรียนรู้แบบร่วมมือขึ้นอีก 1 องค์ประกอบ  ได้แก่
5. กระบวนการกลุ่ม  (Group Process) เป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  นั่นคือ  สมาชิกทุกคนต้องทำความเข้าใจในเป้าหมายการทำงาน  วางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน  ดำเนินงานตามแผนตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน
องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบร่วมมือทั้ง  5 องค์ประกอบนี้  ต่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  ในอันที่จะช่วยให้การเรียนแบบร่วมมือดำเนินไปด้วยดี  และบรรลุตามเป้าหมายที่กลุ่มกำหนด  โดยเฉพาะทักษะทางสังคม  ทักษะการทำงานกลุ่มย่อย  และกระบวนการกลุ่มซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกฝน  ทั้งนี้เพื่อให้สมาชิกกลุ่มเกิดความรู้  ความเข้าใจและสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ 
อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 122)   กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้แบบ
ร่วมมือไว้ว่า ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในการให้ผู้เรียนทำงานกลุ่ม ดังข้อต่อไปนี้
1.      มีการพึ่งพาอาศัยกัน  (Positive  Interdependence)  หมายถึง  สมาชิกในกลุ่มมี
เป้าหมายร่วมกัน  มีส่วนรับความสำเร็จร่วมกัน  ใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน  มีบทบาทหน้าที่ทุกคนทั่วกัน  ทุกคนมีความรู้สึกว่างานจะสำเร็จได้ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
2.      มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในเชิงสร้างสรรค์  (Face  to  Face  Promotive 
Interaction)  หมายถึง  สมาชิกกลุ่มได้ทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด  เช่น  แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  อธิบายความรู้แก่กัน  ถามคำถาม  ตอบคำถามกันและกัน  ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน
3.      มีการตรวจสอบความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน (Individual
Accountability)  เป็นหน้าที่ของผู้สอนที่จะต้องตรวจสอบว่า  สมาชิกทุกคนมีความรับผิดชอบต่องานกลุ่มหรือไม่  มากน้อยเพียงใด  เช่น  การสุ่มถามสมาชิกในกลุ่ม  สังเกตและบันทึกการทำงานกลุ่ม  ให้ผู้เรียนอธิบายสิ่งที่ตนเรียนรู้ให้เพื่อนฟัง  ทดสอบรายบุคคล  เป็นต้น
4.      มีการฝึกทักษะการช่วยเหลือกันทำงานและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย
(Interdependence  and  Small  Groups  Skills)  ผู้เรียนควรได้ฝึกทักษะที่จะช่วยให้งานกลุ่มประสบความสำเร็จ  เช่น  ทักษะการสื่อสาร  การยอมรับและช่วยเหลือกัน  การวิจารณ์ความคิดเห็น  โดยไม่วิจารณ์บุคคล  การแก้ปัญหาความขัดแย้ง  การให้ความช่วยเหลือ  และการเอาใจใส่ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  การทำความรู้จักและไว้วางใจผู้อื่น  เป็นต้น
5.      มีการฝึกกระบวนการกลุ่ม  (Group  Process)  สมาชิกต้องรับผิดชอบต่อการ
ทำงานของกลุ่ม  ต้องสามารถประเมินการทำงานของกลุ่มได้ว่า  ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด   เพราะเหตุใด  ต้องแก้ไขปัญหาที่ใด  และอย่างไร  เพื่อให้การทำงานกลุ่มมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม  เป็นการฝึกกระบวนการกลุ่มอย่างเป็นกระบวนการ
จากองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ  จึงสรุปได้ว่า  การเรียนรู้แบบร่วมมือ
นั้นมีองค์ประกอบ 5 ประการด้วยกัน คือ
1.  มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  โดยสมาชิกแต่ละคนมีเป้าหมายในการทำงานกลุ่ม
ร่วมกัน ซึ่งจะต้องพึงพาอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อความสำเร็จของการทำงานกลุ่ม
2.  มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในเชิงสร้างสรรค์ เป็นการให้สมาชิกได้ร่วมกันทำงาน
กลุ่มกันอย่างใกล้ชิด โดยการเสนอและแสดงความคิดเห็นกันของสมาชิกภายในกลุ่ม ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน
3.  มีความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน  หมายความว่า สมาชิกภายในกลุ่มแต่ละคน
จะต้องมีความรับผิดในการทำงาน โดยที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความมั่นใจ  และพร้อมที่จะได้รับการทดสอบเป็นรายบุคคล
4.  มีการใช้ทักษะกระบวนการกลุ่มย่อย ทักษะระหว่างบุคคล  และทักษะการทำงานกลุ่ม
ย่อย  นักเรียนควรได้รับการฝึกฝนทักษะเหล่านี้เสียก่อน  เพราะเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานกลุ่มประสบผลสำเร็จ  เพื่อให้นักเรียนจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. มีการใช้กระบวนการกลุ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือ วิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ในการวางแผนปฏิบัติงานและเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน  โดยจะต้องดำเนินงานตามแผนตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น