วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning)

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ  (Cooperative  Learning)

            การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือนับว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้กระบวนการกลุ่มให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์และเกิดความสำเร็จร่วมกันของกลุ่ม ซึ่งการเรียนแบบร่วมมือมิใช่เป็นเพียงจัดให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่ม เช่น ทำรายงาน ทำกิจกรรมประดิษฐ์หรือสร้างชิ้นงาน  อภิปราย ตลอดจนปฏิบัติการทดลองแล้ว ผู้สอนทำหน้าที่สรุปความรู้ด้วยตนเองเท่านั้น แต่ผู้สอนจะต้องพยายามใช้กลยุทธ์วิธีให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการประมวลสิ่งที่มาจากการทำกิจกรรมต่างๆ จัดระบบความรู้สรุปเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเองเป็นหลักการสำคัญ (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, 2544 :15 ) ดังนั้น การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือผู้สอนจะต้องเลือกเทคนิคการจัดการเรียนที่เหมาะสมกับผู้เรียน และผู้เรียนจะต้องมีความพร้อมที่จะร่วมกันทำกิจกรรม รับผิดชอบงานของกลุ่มร่วมกัน โดยที่กลุ่มจะประสบความสำเร็จได้ เมื่อสมาชิกทุกคนได้เรียนรู้บรรลุตามจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การเรียนเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
            เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือมากยิ่งขึ้น  ในบทนี้จะกล่าวถึง รายละเอียดของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ ประกอบไปด้วย ความหมาย  วัตถุประสงค์  องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ  ความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้แบบร่วมมือกับการเรียนเป็นกลุ่มแบบดั้งเดิม  ขั้นตอนการจัดกิจกรรม  เทคนิคการเรียนรู้แบบร่วมมือ  วิธีการเรียนแบบร่วมมือ  ประโยชน์ของการเรียนแบบร่วมมือ เงื่อนไขการเลือกวิธีการสอนแบบต่าง ๆ  และเหตุผลของการผสมผสานการสอนแบบต่าง ๆ  และสรุปท้ายบทรวมทั้งในตอนท้ายจะมีกิจกรรมและคำถามท้ายบท

ความหมาย
            สำหรับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือได้มีนักวิชาการให้ความหมายไว้หลายท่าน ดังนี้
            อาภรณ์  ใจเที่ยง  (2550 : 121) ได้กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือหรือแบบมีส่วนร่วม หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถต่างกัน ได้ร่วมมือกันทำงานกลุ่มด้วยความตั้งใจและเต็มใจรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ในกลุ่มของตน ทำให้งานของกลุ่มดำเนินไปสู่เป้าหมายของงานได้
            สลาวิน  (Slavin, 1987 : 7-13)  อ้างใน  ไสว ฟักขาว (2544 : 192) ได้ให้ความหมายของการเรียนรู้แบบร่วมมือว่า  หมายถึง  วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ  โดยทั่วไปมีสมาชิกกลุ่มละ 4 คน  สมาชิกกลุ่มมีความสามารถในการเรียนต่างกัน  สมาชิกในกลุ่มจะรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับการสอน  และช่วยเพื่อนสมาชิกให้เกิดการเรียนรู้ด้วย  มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  โดยมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน  คือ  เป้าหมายของกลุ่ม 
            ไสว  ฟักขาว (2544 : 193) กล่าวถึงการเรียนรู้แบบร่วมมือไว้ว่า เป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตน  และส่วนรวม  เพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
            จากความหมายของการเรียนรู้แบบร่วมมือข้างต้น  สรุปได้ว่า  การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่ผู้สอนจัดให้ผู้เรียนแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4-6 คน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมกันรับผิดชอบงานในกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้เกิดเป็นความสำเร็จของกลุ่ม

วัตถุประสงค์ 
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ อาภรณ์  ใจเที่ยง (2550 : 121) ได้กล่าวว่า ดังนี้
            1. เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะกระบวนการกลุ่มได้ฝึกบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำงานกลุ่ม
            2. เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดค้นคว้า  ทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 
ทักษะการคิดสร้างสรรค์  การแก้ปัญหา  การตัดสินใจ  การตั้งคำถาม  ตอบคำถาม  การใช้ภาษา  การพูด ฯลฯ
            3. เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะทางสังคม  การอยู่ร่วมกับผู้อื่น  การมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น 

การเสียสละ  การยอมรับกันและกัน  การไว้วางใจ  การเป็นผู้นำ  ผู้ตาม  ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น